Tips

คุณรู้หรือไม่ว่าทำไม่เครื่องใช้ไฟฟ้าถึงมีสายดิน

สายดิน 
1. สายดิน คือ สายไฟที่มีไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า ปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต้องมีการต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้วนหนึ่งจะต่อเข้ากับวัตถุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน



2. ทำไมจึงต้องมีสายดิน
     2.1 สายดินจะป้องกันไม่ให้มีผู้ถูกไฟฟ้าดูดเมื่อมีไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่รั่วจะไหลลงดินผ่านทางสายดินแทนที่จะไหลผ่านร่างกาย
    2.2 เมื่อมีไฟรั่วสายดินจะช่วยให้เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติตัดไฟออกทันที
    2.3 เครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทหากไม่มีสายดินอาจทำงานได้ไม่สมบรูณ์ หรือชำรุดได้ง่าย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น



3. การติดตั้งระบบไฟที่มีสายดินจะเป็นประโยชน์อย่างไร ในเมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าในท้องตลาด ไม่มีสายดิน
     คำถามดังกล่าวมักเกิดความเข้าใจผิดที่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดต้องมีสายดินเสมอ และเครื่องใช้ที่มีสายดินจะต้องมีปลั๊กไฟที่มี 3 ขาเท่านั้นซึ่งจะขอทำความเข้าใจให้ถูกต้องใหม่  ดังนี้
     3.1 เครื่องใช้ไฟฟ้าในท้องตลาดไม่จำเป็นต้องมีสายดินทั้งหมด มีบางประเภทเท่านั้นที่ต้องมีสายดิน
    3.2 ปลั๊กไฟที่มี 3 ขานั้นเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของปลั๊กไฟที่มีสายดินแบบหนึ่งเท่านั้น ปลั๊ก 2 ขาแบบกลมที่มีสายดิน ก็มีอยู่มากมายในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่วางในท้องตลาด เช่น ปลั๊กเตารีด เครื่องโทรสาร เครื่องซักผ้า เป็นต้น แต่ผู้ซื้อ/ผู้ใช้อาจไม่เข้าใจ จึงคิดว่าไม่มีสายดิน  (ดูรายละเอียดในเรื่องของปลั๊กไฟ)
    3.3 เครื่องใช้ที่จำเป็นต้องมีสายดิน แต่ไม่มีสายดินถือว่าเป็นเครื่องใช้ที่มิได้ผลิตตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวงจะอำนวยคามสะดวกให้สามารถใช้เครื่องไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีสายดินได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การเพิ่มเติมปรับปรุงระบบไฟให้มีสายดินในภายหลังนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่อาจทำได้โดยง่าย รวมทั้งไม่สวยงามอีกด้วย



4. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น/ไม่จำเป็น ต้องมีสายดิน
     เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีสายดิน ได้แก่  เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มักมีไฟรั่วได้ง่าย มีส่วนภายนอกที่เป็นโลหะ หรือเกี่ยวข้องกับน้ำ หรือความร้อน เช่น ตู้เย็น เตารีด เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว เครื่องปรับอากาศ กระทะไฟฟ้า ตู้แช่ เตาไฟฟ้า เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน เครื่องทำน้ำร้อน/น้ำอุ่น เครื่องปิ้งขนมปัง เป็นต้น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ เรียกว่าเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1
     เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดิน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการหุ้มด้วยฉนวนไฟฟ้าที่มีความหนาเป็น 2 เท่าของเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต้องมีสายดิน จึงมักเรียกว่าเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 2 หรือประเภทฉนวน 2 ชั้น โดยมีสัญลักษณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสซ้อนกัน 2 ชั้น ปรากฏอยู่ที่แผ่นป้ายบอกการใช้ไฟฟ้าของเครื่อง บางครั้งก็มีสัญลักษณ์ ตัวอย่างของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดนี้ ได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีสายดินได้แก่ เครื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แรงดันไม่เกิน 50 โวลต์ เช่น เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้เรียกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3


5. ดวงโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งทางไฟฟ้าต้องต่อสายดินด้วยหรือไม่
     ดวงโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งทางไฟฟ้า เช่น รางโลหะ ท่อโลหะ หากอยู่ในระยะที่บุคคลทั่วไปสามารถสัมผัส หรือ จับต้องได้ ต้องมีการต่อสายดินด้วย ยกเว้นว่าจะอยู่เกินระยะที่เอื้อมถึงก็ไม่ต้องมีสายดิน (เกินระยะความสูง 2.4 เมตร ในแนวดิ่งหรือเกินระยะ 1.5 เมตร ในแนวราบ) อย่างไรก็ตามต้องไม่มีส่วนที่มีความต่อเนื่องทางไฟฟ้าลงมาอยู่ในระยะบุคคลทั่วไปสามารถสัมผัสได้ด้วย เช่น กรณีดวงโคมอยู่กับโครงเหล็กที่ต่อเนื่องลงมา เป็นต้น ก็ต้องต่อโครงเหล็กลงสายดินด้วย



6. เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่ปลอดภัยหรือต้องมีสายดิน
     หากเป็นเครื่องใช้ฟ้าประเภท 1 ตามที่กล่าวมาแล้ว ควรต้องติดตั้งสายดินทุกเครื่องไม่ว่าเป็นเครื่องใช้ประเภทใด จะมีสายดินอยู่แล้วหรือไม่ ให้ทดลองเสียบปลั๊กเปิดเครื่อง แล้วทดสอบด้วยไขควงลองไฟกับส่วนที่เป็นโลหะ จากนั้นกลับขั้วปลั๊กแล้วทดสอบอีกครั้ง หากมีไฟรั่วไม่ว่ากรณีใด (มีไฟแดงที่ไขควง) จะถือว่าไม่ปลอดภัย และต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าทันที



7. สัญลักษณ์และสีของสายดิน
     7.1 เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีสายดิน จะมีสัญลักษณ์ติดไว้ที่ตัวเครื่องบริเวณตำแหน่งที่ใช้ต่อสายดิน บางครั้งก็จะมีสีเขียวแต้มอยู่ด้วย
     7.2 สีที่ใช้สำหรับสายไฟเส้นที่เป็นสายดิน จะใช้ฉนวนสายที่เป็นสีเขียวหรือเป็นแถบสีเหลืองสลับกับสีเขียว (เส้นไฟ = สีดำ , เส้นศูนย์ = สีเทา)



8. เราจะทำสายดินให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตมิได้ต่อสายดินไว้ด้วยตนเองได้หรือไม่
     ควรปรึกษาผู้ผลิต หรือช่างที่ชำนาญ และมีเครื่องมือทดสอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะต้องทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น
    8.1 ทดสอบความต่อเนื่องคงทนของสายดินกับจุดต่อสายดินในขณะที่มีกระแสลัดวงจรลงสายดิน
    8.2 ทดสอบระดับฉนวนระหว่างสายดินกับสายศูนย์และสายเส้นที่มีไฟ
    8.3 ขนาดสายดินที่ใช้ต้องมีขนาดตามมาตรฐานฯ
    8.4 ปลั๊กที่ใช้กับเต้ารับต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน และต่อขั้วให้ถูกต้องตามมาตรฐานนั้น
    ถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 2 หรือ 3 ก็ไม่ต้องต่อสายดิน ยกเว้นว่าจะมีไฟรั่ว ซึ่งต้องมีการซ่อมแก้ไข
    ถ้าต่อสายดินในเครื่องจากผู้ผลิตแล้วขาดเพียงแต่หัวปลั๊กไฟ ก็ให้ใช้หัวปลั๊กชนิดเดียวกันกับเต้ารับ พร้อมต่อขั้วให้ถูกต้อง



9. เราจะต่อสายดินของเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ลงดินอย่างถูกต้องได้อย่างไร
     วิธีต่อสายดินได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง โดยจะขออธิบายดังนี้
     9.1 สายดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ติดตั้งทางไฟฟ้าทั้งหมด จะต้องเดินมารวมกันที่ขั้วต่อสายดินภายในตู้เมนสวิทช์
     9.2 ขั้วต่อสายดินนี้จะต้องต่อเข้ากับเส้นศูนย์ (เส้นที่ไม่มีไฟ) ทางด้านไฟเข้าของเมนสวิตท์ (ยกเว้นห้องชุดของอาคารชุดที่สายดินต้องต่อกับสายดินของอาคารชุด)
     9.3 ต่อสายจากขั้วต่อสายดินไปลงดินที่แท่งโลหะที่เรียกว่า หลักดิน ด้วยสายที่เรียกว่า สายต่อหลักดิน
     9.4 สายไฟที่ใช้เป็นสายดินหรือใช้ต่อกับอุปกรณ์สายดินทั้งหลายต้องมีขนาดเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2545
10. การติดตั้งระบบสายดิน
     10.1 ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นประมาณ 10 – 20 % ของค่าใช้จ่ายการติดตั้งทางไฟฟ้าทั้งหมด